จากจุดเริ่มต้น สู่การเป็นองค์กรภาคีเครือข่าย

เครือข่ายสิทธิและสถานะบุคคล เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในภาคเหนือ เป็นการร่วมตัวเพื่อทำงานร่วมกัน ในการผลักดันและแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้กับครอบครัวชาวบ้านไร้รัฐและไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และความเป็นธรรมในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นใน การเข้าถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สิทธิในการทำงาน สิทธิในด้านการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงการปกป้องคุ้มครอบการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีต่างๆ
ปัจจุบันเครือข่ายเครือข่ายสิทธิและสถานะ เริ่มทำงานแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นปี 2555 โดยมีเวทีประชุมเครือข่ายฯ
เป็นประจำในทุกๆเดือน เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหา และพัฒนาทักษะในการทำงาน
นายสิทธิพงษ์ มูลฟอง คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของจุดเริ่มต้นในการทำงานเป็นเครือข่าย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้ว่า…
   “จุดเริ่มต้นของเครือข่าย เริ่มจากการมองเห็นถึงสถานการณ์ที่เราทำงาน เราคิดทั้งประเด็นปัญหา ทั้งกระบวนการทำงาน ซึ่งการทำงานของพวกเราก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมาเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่ม 7 ทวิ กลุ่มต่างด้าว กลุ่มบัตรเลข 0 ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันนะครับ แต่ปัญหาที่ผ่านมาที่พบกัน คือ เราต่างคนต่างทำ แล้วไม่ก่อให้เกิดพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เราจะไปขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีการรวมตัวกัน และในส่วนของกระบวนการทำงานในเชิงพื้นที่ มันเป็นในลักษณะเหมือนกับว่าต่างคนต่างทำ และไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงนี้ถ้าหากเรามีโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากประสบการณ์ทำงานอีกที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งนั้นก็จะเป็นการเสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกัน เพราะที่ผ่านมาถ้าไม่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็กลายเป็นว่าพวกเราลองผิดลองถูกกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งนี่เองจึงกลายมาเป็นวัตถุประสงค์หลักในการทำงานของเครือข่ายเรา”
นอกจากนี้ นายสิทธิพงษ์ ยังกล่าวต่อไปว่า… “ตลอดระยะเวลาประมาณปีกว่าๆ ที่เราได้เริ่มรวมตัวในการพูดคุยกัน ซึ่งกิจกรรมหลักของเราก็จะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน คือ หนึ่ง เป็นการพบปะแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเรามีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมด 7 ครั้งเพื่อพบปะแลกเปลี่ยน ส่วนกิจกรรมที่สองคือ กิจกรรมการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ โดยในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการรวมตัวกัน เพื่อหนุนเสริมกิจกรรมในการทำงานร่วมกันของกลุ่มองค์กรเครือข่าย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ เช่น บางพื้นที่จัดให้มีการเจรจาให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน มี MOU ร่วมกัน หรือมีการสรุปบทเรียนร่วมกัน”
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการทำงานของกลุ่มเครือข่ายสิทธิและสถานะฯ เป็นไปเพื่อให้การช่วยเหลือและผลักดันให้เกิดแนวทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม กลุ่มเครือข่ายจึงเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนความจริงของปัญหาของกลุ่มคนไร้สัญชาติ และกลุ่มบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ออกสู่สายตาของสาธารณชนให้ได้มีการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงของปัญหาเพื่อเกิดการผลักดันให้รัฐบาลมีการพิจารณาและแก้ไขปัญหานี้ต่อไป…….
ทีมข่าว TOBETHAI  มูลนิธิกระจกเงา
สนับสนุนโดย Diakonia
Thu, 07/11/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.