เครือข่ายโครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ร่วมกับ องค์กร plan international ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะจังหวัดเชียงราย

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา  เครือข่ายโครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ร่วมกับ องค์กร plan international ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะจังหวัดเชียงราย  ประเด็น “ เด็กกับความหวังการได้เป็นคนถูกกฏหมายและได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง และ 7 ทวิวรรคสาม แห่ง พรบ. สัญชาติ ฉบับที่ 4 ปี 2551”  ที่ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยมี  นายวรญาณ  บุญณราช  นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้ให้เกียรติ เป็นประธานเปิดงาน  และร่วมเวทีพูดคุยประเด็นปัญหากับผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้

ผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วย  นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทิดไทย   กลุ่มแกนนำชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย  กลุ่มแกนนำชาวบ้านที่ยื่นคำร้องขออนุมัติสัญชาติไทย และอยู่ระหว่างการรออนุมัติคำร้อง  กลุ่มผู้นำชุมชนหมู่บ้านในตำบลเทอดไทย  อำเภอแม่ฟ้าหลวง  จังหวัดเชียงราย  เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครองค์กรพัฒนาเอกชน  รวม  80  คน

วัตถุประสงค์การจัดอบรม เพื่ออบรมให้แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของอำเภอแม่ฟ้าหลวงและแนวทางการร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการดำเนินการยื่นคำร้อง ขอสถานะต่างด้าวและตามมาตรา 7 ทวิวรรคสอง  และให้เห็นภาพรวมการทำงานเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิและสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ  ไร้สัญชาติจังหวัดเชียงราย  รวมถึงสถานการณ์ปัญหาของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และนโยบายรัฐไทยในการแก้ปัญหา   อบรมให้ความรู้ความเข้าใจขั้นตอนและกระบวนการในการยื่นคำร้อง ตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2  และกระบวนการขอสถานะต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย

ชาวบ้านที่เข้ารับการอบรมมีความกระตือรือร้นในการซักถามข้อสงสัยจากประเด็นปัญหาที่ตัวเองประสพ พบเจอ สรุปข้อสงสัยได้  3 ประเด็นปัญหา ในช่วงเช้าที่ผู้เข้ารับการอบรมให้ความสนใจ ในเวทีซักถามปัญหาประเด็นความสงสัย  ซึ่งมีนายอำเภอแม่ฟ้าหลวงร่วมเวทีพูดคุย และช่วยคลี่คลายประเด็นข้อสงสัยให้ผู้เข้ารับการอบรมในประเด็นปัญหาและการหาทางออกของปัญหา

ปัญหาการเดินทางออกนอกพื้นที่ของชาวบ้านแล้วโดนจับ เพราะไม่มีหนังสือขออนุญาตออกนอกพื้นที่และข้อเสนอของแกนนำชาวบ้านที่เข้าร่วมอบรม  ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 3 อำเภอ (แม่สาย,แม่จัน,แม่ฟ้าหลวง) พูดคุยปรึกษาหารือถึงข้อปัญหานี้ที่ชาวบ้านกำลังประสพ

กลุ่มคนที่ถูกจำหน่าย และขอคืนเลข 13 หลัก และระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละคำร้องในการยื่นขอสถานะบุคคล

ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการของทางภาครัฐ (อำเภอ) และการผสานความร่วมมือระหว่างอำเภอและองค์กรพัฒนาเอกชน

การทำงานร่วมกันระหว่างอำเภอและองค์กรพัฒนาเอกชน ทางอำเภอเห็นชอบด้วยและใช้กลไกความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน  ซึ่งแนวทางที่องค์เอกชนสามารถเข้าไปช่วยได้เลย คือการช่วยเตรียมเอกสารของชาวบ้านให้พร้อมก่อนยื่นให้ทางอำเภอพิจารณา  จะเป็นลดขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น

ในส่วนข้อเสนอที่ทาง องค์กรพัฒนาเอกชนและแกนนำชุมชน เสนอให้ทางอำเภอจัดทำห้องทะเบียนเคลื่อนที่  เพื่อมารับคำร้องของชาวบ้านนอกสถานที่ที่รถสามารถเข้าถึง  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก คนชรา และ ผู้พิการ  ที่เข้าเกณฑ์  7 ทวิวรรคสอง  และกลุ่มที่เข้าเกณฑ์พิจารณาตามมาตรา 43 ในส่วนของข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันแน่ชัด

การอบรมในครั้งนี้มีทิศทางดีในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ (อำเภอ) – องค์กรพัฒนาเอกชน – ผู้นำชุมชน – ชาวบ้าน ประเมินจาก ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมของคนระดับผู้นำชุมชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวัน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้นำชุมชนให้ความใส่ใจต่อปัญหาของคนในชุมชน  และเป็นการดีที่เวทีอบรมนี้ได้มีการปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ในส่วนของการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนจะช่วยผลักดันให้ทางฝ่ายสำนักทะเบียนราษฎร ออกมารับคำร้องนอกสถานที่  แม้จะยังไม่ได้รับการตอบรับแต่ก็มีนิมิตรหมายที่ดี  ช่วงเวลาต่อจากนี้ให้ชาวบ้านเตรียมเอกสารของตัวเองให้พร้อม  เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการยื่นเสนอพิจารณา  เป็นลำดับต่อไป

 

 

 

รัชนีวรรณ  สุขรัตน์  รายงาน

Copyright © 2018. All rights reserved.