กมธ.วุฒิสภาเตรียมเสนอสธ.ดึงกลุ่มคนไร้รัฐตกค้างอีก 1.5 แสนคนเข้ากองทุนสุขภาพคนไร้สถานะ

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภาและนักวิชาการด้านสาธารณสุขเตรียมผลักดันบุคคลมีปัญหาสถานะสิทธิกว่า 150,000 คนเข้าสู่กองทุนสุขภาพตามมติครม.53
อาจจะเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาด้านการใช้กฎหมาย และแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขเข้าพบในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ รวมถึงหารือการผลักดันนโยบายให้คนไร้รัฐได้เข้าถึงสิทธิการรักษามากขึ้น
อย่างน้อย การต่อสู้ครั้งใหม่ของนักวิชาการและบุคคลด้านสาธารณสุขก็มิได้เป็นการเดินเพียงลำพัง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สิทธิ (คืนสิทธิ) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ จำนวน 4.5 แสนคน ประกอบด้วย กลุ่มคนเข้าเมืองโดยชอบ 90,033 คน กลุ่มคนผู้ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหาและพิสูจน์สัญชาติ 296,863 คน และกลุ่มบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน 70,513 คน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดการบริหารกองทุนสุขภาพคนไร้สถานะแทนสปสช.ซึ่งใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,067บาท/คน/ปี เป็นกองทุนคู่ขนานกับกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค
ในระหว่างการหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯในสัปดาห์ที่แล้ว ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเล่าว่า กว่าคณะรัฐมนตรีจะให้การรับรองในตอนนั้น  นักวิชาการและบุคคลด้านสาธารณสุขต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ถึง 5 ปี ผ่าน 4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องใช้มวลชนกดดันอย่างหนักเพื่อให้เกิดการยอมรับ แต่ในข้อเท็จจริง ยังมีบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิตกค้างอยู่อีกจำนวนมากที่ตกหล่นจากมติครม. 2553 ซึ่งเป็นคนกลุ่มเลข 0 8 และ 9 จำนวน 151,422 คน
“ขอย้ำว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนไทย แต่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติ” ดร.นพ.พงศธรกล่าว
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งงบกองทุนสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิจำนวน 500,000 คน แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิที่เข้าร่วมกองทุนรักษาพยาบาลตามมติครม. 53 นั้นได้ลดจำนวนจาก 4.5 แสนคน เหลือ 3.6 แสนคน เนื่องจากได้สัญชาติไทยไปแล้ว จึงมีสิทธิในกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค ดร.นพ.พงศธรคาดการณ์ว่า การรวมผู้ตกหล่นทั้ง 151,422 คนนั้นสามารถทำได้ทันที เนื่องจากมีที่ว่างเหลือให้กลุ่มใหม่เข้าไป
“เราต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และเราจะขอเอาคนกลุ่มนี้เข้าไปอีก เราต้องสู้กันทีละ step” ดร.นพ.พงศธรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะอื่นๆอีก เช่น คนที่ข้ามชายแดนมารักษา ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มาใช้บริการการรักษาพยาบาลบ่อยนัก ดร.นพ.พงศธรได้เสนอทางกรรมาธิการวิสามัญฯว่า ควรมีการตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดนเพื่อบุคคลไม่มีสถานะใดๆ คาดประมาณว่าต้องใช้เงินที่ 200-300 ล้านบาท/ปี
ในที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้รับเชิญเข้าร่วมด้วยเช่นกัน อุ้มผางเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กว่า 70% ของประชากรเป็นคนต่างด้าวและบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ ประมาณ 55% ของผู้ป่วยในและประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยนอกรพ.อุ้มผางไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยมาก ผู้ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพมักไม่เข้ามาใช้บริการการแพทย์ แม้ทางโรงพยาบาลจะรักษาให้ตามหลักมนุษยธรรม บางคนจะมาเมื่อมีอาการหนักมากแล้ว
“การแยกกลุ่มคนเป็นเรื่องทางวิชาการหรือการจัดการ แต่ตอนนี้ ผลกระทบมันเกิดขึ้นจริง เกิดโรค เกิดค่ารักษา จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องทำเพื่อช่วยคนกลุ่มนี้”  นพ.วรวิทย์กล่าวพร้อมสนับสนุนแนวคิดของดร.นพ.พงศธร
นพ.วรวิทย์กล่าวเพิ่มว่า ประเทศไทยต้องทำงานเชิงรุกไปช่วยประเทศเพื่อนบ้านด้านการรักษาระดับปฐมภูมิ มีความจำเป็นต้องส่งเสริมและป้องกันโรคให้แก่พี่น้องตามแนวชายแดน
ซึ่งทั้งหมดที่นำเสนอโดยนายแพทย์ทั้งสอง กรรมาธิการวิสามัญฯอาจต้องมีการเสนอผ่านกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ที่จัดการกับกองทุน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สมช.และสำนักงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังมีความกังวลในเรื่องความทับซ้อนของนโยบาย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายบัตรประกันสุขภาพ 2,200 บาท บวกค่าตรวจร่างกายอีก 600 บาทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่เดิม บัตรประกันสุขภาพราคาอยู่ที่ 1,300 บาท นโยบายนี้ประกาศเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนเพื่อให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ที่ไม่มีสิทธิในประกันสังคม ต่อมาได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ติดตาม และล่าสุด ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังชาวต่างชาติหรือต่างด้าวที่อยู่ตามแนวชายแดนอีกด้วย ทำให้กลุ่มเป้าหมายทับซ้อนกับกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิในข้อเสนอ 2 ขัอ
เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นายสุรพงษ์ กองจันทึก และ กรรมาธิการวิสามัญฯ นายวีนัส สีสุข ในฐานะผู้ที่ติดตามนโยบายบัตรประกันสุขภาพมาอย่างยาวนาน เห็นว่า แนวคิดการเก็บเงินตามนโยบายบัตรประกันสุขภาพ แรกเริ่มจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีงานทำ และนายจ้างควรเป็นผู้จัดการซื้อบัตรประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง แต่ในทางปฏิบัตินั้นลูกจ้างกลับถูกละเลย การขยายกลุ่มเป้าหมายมายังกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิอาจจะไม่เหมาะสม ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการออกแบบระบบไว้แต่แรก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือคนไทยที่รอการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อขึ้นราคาเป็น 2,200 บาท อาจจะยากที่คนกลุ่มนี้จะมาซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพราะเขามีรายได้น้อย สุดท้าย ก็จะกลายเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลตามแนวชายแดนที่ต้องรักษาพวกเขาตามหลักมนุษยธรรม
แหล่งข่าวภายในเล่าว่า การพิจารณาขึ้นราคาบัตรประกันสุขภาพเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการให้ความสำคัญกับการคิดคำนวนเรื่องกำไร-ขาดทุนในการขายบัตร แม้กลุ่มเป้าหมายบางส่วนจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ตาม
ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นายสุพจน์ เลียดประถม เชื่อว่ามีหลายช่องทางที่จะผลักดันเรื่องการเพิ่มผู้มีสิทธิตามกองทุนรักษาพยาบาลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิกว่า1.5 แสนคน และการตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน นี้ได้ ตนเห็นว่าข้อเสนอ 2 ข้อของดร.นพ.พงศธรนั้นดี แม้อาจมีเสียงครหาว่าเป็นการเสียงบเปล่าๆที่ไปช่วยกลุ่มคนผู้มีปัญหาสถานะทางสิทธิ แต่ตนเชื่อว่าการช่วยเหลือมีความจำเป็น เพราะเป็นเรื่องของมนุษยธรรม แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อจัดทำข้อเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
Copyright © 2018. All rights reserved.