กลุ่ม Arakan Project กล่าวว่าผู้คนนับหมื่นอพยพออกจากบังคลาเทศและพม่ามุ่งหน้าไปหางานทำและสร้างชีวิตใหม่ในมาเลย์เซียโดยผ่านประเทศไทย

ฤดูการอพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว และกลุ่ม Arakan Project ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ติดตามดูแลความเคลื่อนไหวของชาวโรฮิงจะ ชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย ไร้สัญชาติในภูมิภาค ประมาณว่า มีผู้อพยพออกไปแล้วราวๆ 17,000 คน และเรือที่ใช้เดินทางเป็นเรือใหญ่ แทนที่เรือเล็กเก่าๆที่เคยใช้กัน

มีการอพยพของชาวบังคลาเทศและชาวพม่าที่เดินทางเสี่ยงภัยในทะเล ไปแสวงหางานและสร้างชีวิตใหม่ในมาเลย์เซียและที่อื่นๆในเอเชียมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวโรฮิงจะ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ของพม่า ทำให้มีชาวโรฮิงจะอพยพออกมากยิ่งขึ้นไปอีก

Chris Lewa ผู้อำนวยการของกลุ่ม Arakan Project บอกว่า เฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนเกือบ 4,000 คนที่อพยพออกไปแล้ว และคิดว่าตั้งแต่นี้ไปจนตลอดหน้าแล้ง จะมีผู้คนอพยพออกไปทางเรือเป็นจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติในภูมิภาค ยอมรับว่ารายงานของกลุ่ม Arakan Project เชื่อถือได้ และว่าสหประชาชาติไม่มีตัวเลขในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สำนักงานเพื่อการประสานงานในกิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ในปีนี้พาหนะที่ผู้อพยพใช้ในการเดินทาง เปลี่ยนจากเรือเล็กเก่าๆที่เป็นอันตรายมาเป็นเรือใหญ่ขึ้น

Chris Lewa บอกกับ VOA ว่า การอพยพในช่วงนี้ ดูจะมีการจัดการอย่างเป็นดี และให้ความเห็นว่า การอพยพในลักษณะนี้จะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าทางการของประเทศไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นทางการไทยหรือบังคลาเทศ แต่โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น ไม่คิดว่าการเคลื่อนย้ายผู้คนเป็นจำนวนมากอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมอย่างลับๆ

ผู้อำนวยการของกลุ่ม Arakan Project บอกด้วยว่า คนที่เธอติดต่อด้วยตามชายแดน สังเกตเห็นว่า ผู้อพยพในพม่าสามารถขึ้นเรือข้ามฟากได้ในเวลากลางวัน และไม่ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการชี้แนะว่า มีนโยบาย “เปิดประตู” อย่างไม่เป็นทางการสำหรับชาวมุสลิมที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ

ต่อจากนั้น ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้โดยสารเหล่านี้ถูกย้ายขึ้นเรือในน่านน้ำระหว่างประเทศ และมีรายงานว่า ผู้อพยพถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายพักชั่วคราวที่นักลักลอบค้ามนุษย์สร้างขึ้นไว้ในภาคใต้ของประเทศไทย จนกว่าจะสามารถจ่ายค่าตัวมูลค่า 2,000 ดอลล่าร์ หรือประมาณหกหมื่นบาทเศษต่อหัวให้ได้ ก่อนจะเดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปในมาเลย์เซียได้

Chris Lewa ผู้อำนวยการของกลุ่ม Arakan Project เล่าถึงความวิตกกังวลในหมู่ผู้อพยพไว้ด้วยว่า คนที่ไม่มีเงินจ่ายให้มีความกลัวว่าจะถูกนำไปขาย ซึ่งเป็นการยากที่จะหาหลักฐานมาสนับสนุนได้ แต่เชื่อว่ามีผู้อพยพที่ถูกขายให้กับเรือประมง และตามสวนหรือไร่ในภาคใต้ของประเทศไทยหรือมาเลย์เซีย

สำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติกล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงขึ้นในรัฐยะไข่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้หญิงและเด็กอพยพออกไปมากขึ้น โดยที่ผู้อพยพก่อนหน้านั้นมักจะเป็นผู้ชายที่เสี่ยงอันตรายเดินทางออกไปโดยใช้เรือเล็ก

ที่มา : http://www.voathai.com/content/se-asia-boat-people-nm/1779682.html

Copyright © 2018. All rights reserved.