UN หวั่นเรือโรฮิงญาลี้ภัยความรุนแรงในพม่าจมทะเลซ้ำรอย

UN หวั่นเรือโรฮิงญาลี้ภัยความรุนแรงในพม่าจมทะเลซ้ำรอย

เจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนบังกลาเทศเข้าสกัดเรือชาวมุสลิมโรฮิงญาที่พยายามจะข้ามแม่น้ำนาฟมายังฝั่งบังกลาเทศ เพื่อหลบหนีความรุนแรงระหว่างศาสนาในพม่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ชาวโรฮิงญายังคงหลบหนีออกจากพม่าทางเรือกันต่อเนื่อง และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุเรือโรฮิงญาพลิกคว่ำกลางทะเลทำให้มีผู้สูญหายหลายสิบคน ซึ่งสหประชาชาติวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุโศกนาฎกรรมซ้ำรอยขึ้นอีก พร้อมร้องขอให้พม่าจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าว.– Agence France-Presse Photo/Munir uz Zaman..

เอเอฟพี – หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ เรียกร้องพม่าให้จัดการกับความรุนแรงทางศาสนาเพื่อเลี่ยงเหตุโศกนาฏกรรมทางเรือเกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งเชื่อว่าได้คร่าชีวิตชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีการปะทะกันในพม่าไปแล้วหลายสิบคน

“จากเหตุภัยพิบัติจากเรือพลิกคว่ำกลางทะเลเมื่อไม่นานนี้ ทำให้เรากังวลว่าเหตุโศกนาฏกรรมที่คล้ายกันจะเกิดขึ้นตามมาอีก หากประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินมาตรการจัดการกับสาเหตุ และลดความเสี่ยง” เอเดรียน เอ็ดเวิร์ด โฆษกหน่วยงานของสหประชาชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ว่าประชาชนถูกผลักดันจากความสิ้นหวัง จนทำให้ต้องก้าวไปสู่การเดินทางที่เสี่ยงต่อชีวิต ที่มักตกไปอยู่ในเงื้อมมือของบรรดาพวกค้ามนุษย์”

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เรือที่บรรทุกขาวโรฮิงญาลี้ภัยเกือบ 70 คน ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย ได้เกิดพลิกคว่ำเมื่อวันอาทิตย์ ที่บริเวณนอกชายฝั่งพม่า ทำให้มีผู้สูญหายหลายสิบราย และมีรายงานว่าพบผู้รอดชีวิตเพียง 8 คน

ประชาชนราว 140,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ต้องไร้ที่อยู่อาศัยจากเหตุความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมที่เกิดขึ้น 2 ระลอก ในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 200 คน

ชาวโรฮิงญาหลายพันคนได้หลบหนีออกนอกพม่านับแต่นั้น หลายคนจ่ายเงินให้แก่นายหน้าเพื่อพาหลบหนีด้วยเรือไปยังมาเลเซีย หรือลงใต้กว่านั้น แม้ว่าจะเสี่ยงภัยต่ออันตรายในทะเลในอ่าวเบงกอลก็ตาม และคาดว่ามีหลายร้อยคนเสียชีวิตในทะเลในปีนี้

พม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาราว 800,000 คน เป็นผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และทางการปฏิเสธที่จะให้สถานะพลเมือง

นายเอ็ดเวิร์ด กล่าวว่า สหประชาชาติพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลพม่าจัดการกับต้นเหตุของปัญหาของการอพยพ รวมทั้งหาหนทางที่จะแก้ไขสภาวะการไร้สัญชาติ

สำหรับเรือของชาวโรฮิงญาที่ขึ้นฝั่งที่ไทย ส่วนใหญ่จะถูกเจ้าหน้าที่จับ และควบคุมตัว

“เราขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ดำเนินการค้นหา และช่วยเหลือเพื่อป้องกันการสูญเสียในอนาคต” เอ็ดเวิร์ด กล่าว และยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ร่วมกันกำหนดเงื่อนไขการรับขึ้นฝั่ง และให้ความคุ้มครองชั่วคราวต่อประชาชนที่มีความจำเป็นต้องการได้รับความคุ้มครองจากนานาชาติ ขณะกำลังหาหนทางในการแก้ไขอย่างยั่งยืน.

ที่มา : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000138471

Copyright © 2018. All rights reserved.