กรณีคำร้องนายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือ “น้องนิก” : คนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ไม่ ไร้สิทธิทางการศึกษา…จากนโยบายสู่การปฏิบัติของภาครัฐ ที่บ่อยครั้งเด็กยังถูกละเลยสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร

กรณีคำร้องนายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือ “น้องนิก” : คนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ไม่ไร้สิทธิทางการศึกษา…จากนโยบายสู่การปฏิบัติของภาครัฐ ที่บ่อยครั้งเด็กยังถูกละเลยสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร
โดย นางสาวรัชนีวรรณ สุขรัตน์   เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)
เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖
สัญชาติเป็นสิ่งบ่งบอกถึงสถานะความเป็นคน ว่ามาจากชาติใด และการมีสิทธิความเป็นพลเมืองของประเทศนั้น ๆ แต่มีเด็กที่เกิดในประเทศไทยเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เท่ากับการไม่มีตัวตน ไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้นบนผืนแผ่นดินนี้หรือผืนแผ่นดินไหน  กรณี น้องนิคและน้องสายพร ที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ บนผืนดินรัฐไทย
น้องนิก ร้องขอความช่วยเหลือด้านการพิสูจน์สถานะบุคคลของตัวเองและน้องสายพร  ผู้เป็นน้องสาว ผ่านทางเจ้าหน้าที่
โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP) จังหวัดเชียงใหม่  ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเคสน้องนิคและน้องสายพร  มายังองค์กรเครือข่าย เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP) เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖  เราได้เดินทางไปพร้อมกับ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา  คณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มุ่งหน้าสู่จุดหมายบ้านป่าเหมือด  อำเภอแม่สาย  จังหวัดเชียงราย  เพื่อไปพบน้องนิก  และน้องสายพร  ผู้เป็นน้องสาว ตามคำร้องขอความช่วยเหลือ
ถึงพื้นที่น้องนิกมารอรับเรายังจุดนัดหมายเพราะเราและน้องนิกไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักกันมาก่อนหน้านี้ เรารู้จักกันในส่วนของเคส และผู้รับเรื่องราวผ่านเมล์เท่านั้น น้องนิกพาเราไปที่บ้านญาติที่น้องนิกและน้องสาวมาพักพิงอาศัยหลังจากเดินทางมาจากจังหวัดตรัง  ถึงบ้านเราพบน้องสาวและป้าเอื้อยคำ  ป้าของเด็กๆทั้งสองคน  วงสนทนาเข้าสู่ช่องทางการแก้ไขเกิดขึ้นทันที
น้องนิกเล่าให้เราฟังหลังจากพินิจดูเอกสารของน้องนิก น้องสาว และคนในบ้าน ถึงการเดินทางจากใต้ขึ้นเหนือ เพราะด้วยเอกสารแสดงตัวตนของน้องนิกและน้องสาวไม่น่าจะรอดพ้นสายตาตำรวจที่ขึ้นตรวจบนรถทัวร์ที่วิ่งผ่านมาหลายจังหวัด น้องเล่าว่า ที่เขาตัดสินใจเดินทางและย้ายโรงเรียนจากจังหวัดตรัง มาอยู่ที่แม่สาย เพราะเขาคิดแล้วว่าขืนอยู่ที่ตรังไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสถานะของตัวเองและน้อง เลยปรึกษาป้าที่อาศัยอยู่ด้วยที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อขอย้ายมาอยู่กับป้าอีกคนที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย
การเดินทางของสองพี่น้องเดินทางมากันเพียงสองคน ใช้บัตรนักเรียนที่ทางโรงเรียนเดิมออกให้  และใบระเบียบแสดงผลการเรียน เป็นใบเบิกทางในการเดินทางครั้งนี้ และไม่โดนตำรวจจับ เพราะสถานะของน้องนิกและน้องสาว คือ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ
เมื่อถามถึงพ่อแม่ของน้องทั้งสองคน น้ำเสียงที่เข้มแข็ง กลับสั่นเครือ จนต้องหยุดวงสนทนาไปชั่วขณะ พ่อ แม่ และน้องนิค เดินทางมาพร้อมป้าจันทร์และลุงสุข จันทร์คำ ซึ่งเดินทางล่องเรือจากสิบสองปันนา เข้ามาประเทศไทยทางอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเดินทางต่อไปที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ยึดอาชีพแรงงานรับจ้างที่บ่อเลี้ยงกุ้ง  ในพื้นที่นั้นตามคำชักชวนของเพื่อนๆที่เข้ามาก่อนหน้า
พ่อกับแม่เลิกกันตอนน้องสายพร(น้องสาว) อยู่ในท้องแม่ น้องนิกรู้แค่เพียงว่าพ่อชื่ออะไร แต่ไม่เคยรู้จักนามสกุลพ่อเลยจนวันนี้ ส่วนแม่ก็รู้แค่เพียงชื่อเรียกขานแต่ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น เพราะหลังจากที่แม่กับพ่อเลิกรากันแม่ก็หายไป ขาดการติดต่อกับน้องนิกตั้งแต่บัดนั้น แต่ก็ยังมีติดต่อกับป้าบ้างแต่ก็นานๆครั้ง น้องนิกเลยไม่มีโอกาสได้เห็นช่วงที่แม่ท้องและคลอดน้องสายพร  ส่วนน้องนิกอาศัยอยู่กับลุงสุขและป้าจันทร์ (พี่สาวแม่) ที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเข้าเรียนที่นั้นตั้งแต่อนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่๕
เวลาผ่านไปสามถึงสี่ปี ไม่แน่ชัด น้องนิกได้เจอกับแม่อีกครั้ง ครั้งนี้แม่มาพร้อมน้องสายพร ที่รู้แค่เพียงว่าเด็กน้อยผู้นี้คือน้องสาวของน้องนิก หลังจากแม่กลับไปก็ไม่กลับมาอีกเลย ทิ้งน้องและตัวเองไว้ให้ป้าเลี้ยงและไม่ติดต่อมาอีกเลยจนถึงทุกวันนี้ เอกสารที่แสดงตัวตนของน้องหรือเอกสารอื่นๆก็ไม่มีติดตัวน้องมาเลยในวันที่แม่พาน้องมา น้องมาแต่ตัวจนทุกวันนี้น้องก็มีแต่ตัวไม่มีเอกสารใด ๆ นอกจากบัตรนักเรียนที่โรงเรียนบ้านป่าเหมือด อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ออกให้หลังจากที่ย้ายโรงเรียนบ้านหัวหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรังมาเท่านั้น
ภาระหนักหลังจากการจากไปแบบมีชีวิตอยู่ของแม่ตกอยู่ที่ลุงและป้า ที่ต้องเลี้ยงดูหลานส่งเสียให้ได้เล่าเรียน ยามเจ็บป่วยก็ช่วยกันรักษา
ช่วงชีวิตวัยเรียนมีประเด็นที่ทำให้เราได้คิด…ตัวน้องนิกเองได้ผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่สมัยป.๑ ก่อนย้ายมาก็เรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย มันน่าจะมีการสำรวจและบัตรเลข ๐ ให้แก่เด็กในโรงเรียนตั้งแต่น้องเรียนระดับประถมแล้วแต่นี้น้องไม่มีเอกสารการสำรวจใดเลยจากทางโรงเรียน จบชั้นประถมจากโรงเรียนบ้านหัวหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนสิเกาผดุงวิทย์ น้องนิคได้เขียนแบบสำรวจคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แบบ๘๙ ) ประมาณ ๕ ครั้ง ผ่านทางโรงเรียน หลังขั้นตอนการเขียนคำร้องแบบสำรวจคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ครูแจ้งให้ไปติดต่อที่อำเภอเพื่อขอขึ้นทะเบียนคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  แต่ทางอำเภอสิเกาไม่รับคำร้องและไม่รับทำเอกสารให้  ด้วยเหตุผลที่ว่า “อำเภอสิเกาไม่มีชนกลุ่มน้อย ให้กลับไปทำที่แม่สาย”
และนี่แหละคือปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเด็ก… เพราะพวกเขาไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับเบื้องต้นจากสถาบันการศึกษา ที่ต้องเข้ามาจัดการเรื่องสถานะบุคคลให้แก่เด็กในโรงเรียนที่เด็กศึกษาอยู่ ณ เวลานั้น และเด็กบางคนอาจจะเจอโรงเรียนปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนด้วยซ้ำไป ทั้งที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่จะให้เด็กทุกคนในผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน แต่ในแง่ความเป็นจริงของสังคมก็มีโรงเรียนจำนวนมากยังปฏิเสธที่จะรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานให้ได้เข้าเรียน
ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาของเยาวชนไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม จึงได้เสนอร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษาใหม่ ซึ่งระเบียบดังกล่าวนี้ได้ผ่านการประชุมมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้เด็กต่างด้าวกลุ่มนี้สามารถเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาของประเทศไทยได้ และจากมติคณะรัฐมนตรีฯ ดังกล่าว รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มของเด็กต่างด้าวไว้สองประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย หมายถึง
– เด็กที่ไม่มีสูติบัตร และทะเบียนบ้านของบุคคลที่มีสัญชาติไทย (ท.ร.14)
– เด็กที่มีชื่อในทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อย หรือทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน
– เด็กที่มีบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย
– เด็กที่มีหนังสือรับรองการเกิดที่ทางราชการออกให้ และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
2. เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หมายถึง เด็กที่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงสัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด และถิ่นที่อยู่ ที่ทางราชการออกให้
ซึ่งบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชน สามารถพาเด็กเหล่านี้ไปสมัครเข้ารับการศึกษาจากสถานศึกษาของไทยได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชนก็ตาม อาศัยความตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ5 ระบุไว้ว่า “ให้สถานศึกษาถือเป็นหน้าที่ ในการที่จะรับเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ เข้าเรียนในสถานศึกษา”
สำหรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรอะไรก็ได้ให้นำหลักฐานนั้นไปใช้สมัครเข้ารับการศึกษา ส่วนเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชน ทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคล ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศจะมีแบบฟอร์มไว้ให้ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานทางการศึกษาต่อไป
เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กไร้สัญชาติหรือไม่ มีผลต่ออนาคตและความมั่นคงของประเทศชาติ และถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าควรให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจและสนับสนุน การจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้วยโอกาส เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายและนโยบายรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้ต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพลภาพและผู้ด้วยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตนเองได้ และกำหนดให้เยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการจัดการศึกษาอบรมจากรัฐโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน
“การศึกษา” จึงเป็นทั้งความหวังของเด็กที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีกว่า ขณะเดียวกันเป็นทางออกของรัฐบาลที่จะช่วยบ่มเพาะให้เด็กเหล่านี้เป็นคนดี มีคุณภาพ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ในภายภาคหน้า
แม้ว่ากฎหมายจะรับรองสิทธิในการศึกษาของคนไร้สัญชาติไว้ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่บางส่วนยังมีองค์ความรู้ไม่ถ่องแท้ ไม่เท่าทันกฎหมาย กฎระเบียนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่อันสมควรจะปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจต่อสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่าสิทธิในการศึกษานี้เป็นสิทธิมนุษยชน บุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือแม้เป็นคนไร้สัญชาติ ย่อมมีสิทธิในการศึกษาเช่นเดียวกัน
“ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิดในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2535”
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ให้การรับรองและประกันสิทธิในการศึกษาของบุคคลซึ่งหมายรวมถึงบุคคลไร้สัญชาติ และกลุ่มคนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนไร้รัฐ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดเลย ไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีใบรับรองการเกิด จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติใดหรือควรมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศใด แสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่บุคคลใดประสงค์จะเข้าเรียนในสถานศึกษา แต่มิใช่บุคคลสัญชาติไทย บุคคลนั้นจึงไม่มีสูติบัตร หรือทะเบียนบ้านที่จะนำมาแสดงได้ แต่บุคคลนั้นก็สามารถใช้หลักฐานอื่น ในการสมัครเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ โดยหากเป็นกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ก็สามารถนำเอกสารทางราชการอื่นๆ มาแสดงได้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เช่น ทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้านของกรมประชาสงค์เคราะห์ ทะเบียนประวัติบุคคลที่เข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อำเภอ หรือจังหวัดจัดทำ หรือหนังสือรับรองการเกิด และหากเป็นกรณีที่เป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆเลย ก็สามารถเข้าเรียนได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถแจ้งให้หัวหน้าสถานศึกษาบันทึกประวัติลงในแบบบันทึกแจ้งทะเบียนประวัติเด็กที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำ
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าบุคคลทุกคน แม้มิใช่บุคคลสัญชาติไทย หรือเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆเลย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลไร้รัฐก็ตาม ก็มีสิทธิเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ตามระเบียบฉบับนี้ และเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสถานศึกษาที่จะต้องรับเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับเข้าเรียนในสถานศึกษาภายใต้การดูแล
ของตน และเมื่อบุคคลเหล่านี้สำเร็จการศึกษาก็มีสิทธิได้รับหลักฐานทางการศึกษาเช่นเดียวกับบุคคลสัญชาติไทย โดยในข้อ 8 ของระเบียบฉบับนี้ ได้ระบุว่าในการบันทึกหลักฐานทางการศึกษาในกรณีที่ใช้หลักฐาน ในกรณีที่ไม่มีสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านให้ใช้หลักฐานทางราชการซึ่งกระทรวงศึกษากำหนด[13] ในกรณีที่ไม่มีสูติบัติหรือสำเนาทะเบียนบ้านหรือหลักฐานทางราชการซึ่งกระทรวงศึกษากำหนดให้ใช้ “แบบบันทึกแจ้งทะเบียนประวัติเด็ก” ที่กระทรวงศึกษาจัดทำซึ่งใช้ในกรณีที่บุคคลนั้นๆไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆเลย โดยต้องแจ้งให้หัวหน้าสถานศึกษาบันทึกประวัติลงในแบบบันทึกแจ้งทะเบียนประวัติเด็กดังกล่าว ตามฉบับนี้ให้หัวหน้าสถานศึกษาบันทึกและลงนามในกำกับข้อความว่า “ไม่มีหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์” ด้วยอักษรสีแดง ลงไว้ในหลักฐานการศึกษาของบุคคลนั้น
บุคคลไร้สัญชาติ หรือบุคคลที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนก็มีสิทธิเข้าเรียนได้ และมีสิทธิได้รับหลักฐานทางการศึกษาเช่นเดียวกับบุคคลสัญชาติไทย แต่จะมีการระบุข้อความว่า “ไม่มีหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์” ในหลักฐานทางการศึกษา
ถ้าเราอ้างอิงข้อมูลข้างต้น คำถามคือ
– ทำไมโรงเรียนไม่จัดการปัญหาเหล่านี้ให้แก่เด็กในสังกัดโรงเรียนให้เรียบร้อย ??
– ทำไมอำเภอสิเกา จังหวัดตรังไม่รับคำร้อง??
– แล้วอนาคตของเด็กบนผืนดินไทยจะเป็นอย่างไร??
มาวันนี้นับเวลาย้อนกลับไปกว่า ๑๗ ปีของการใช้ชีวิตบนผืนดินไทยที่น้องนิกและน้องสายพรยังไม่มีแม้เลข๑๓ หลักที่จะเป็นหลักฐานยืนยันสถานะตัวบุคคล  ทั้งที่น่าจะต้องมีมานานแล้วตั้งแต่อาศัยและเข้าเรียนในพื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
ตอนนี้น้องนิก น้องสายพร ย้ายถิ่นที่อยู่และโรงเรียนมาที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  มาอาศัยอยู่กับป้าอีกคนที่อาศัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย มาแล้วกว่า ๓๐ ปี หลังจากล่องเรือมาจากเมืองล่า สิบสองปันนาเช่นกัน
หลังจากน้องนิกและน้องสายพรย้ายโรงเรียนจากพื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมีหนังสือรับรองการศึกษาและหลักฐานการย้ายโรงเรียนจากโรงเรียนเดิม ขณะที่เรียนทางอำเภอแม่สายได้เข้ามาจัดกิจกรรมอบรมในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนในเรื่องสถานะบุคคล ที่ถือบัตรเลข ๐ และบัตรเลข ๖ น้องนิคซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทางอำเภอพูดถึง เลยใช้เวทีนี้ในการยกตัวอย่างเกี่ยวกับสถานะบุคคลของตัวเอง พร้อมซักถามตามข้อสงสัยที่ตนเองสงสัย แต่คำตอบใช่ว่าจะตรงประเด็นเสมอไป
เจ้าหน้าที่อบรมในวันนั้นแนะนำน้องนิกไปติดต่อที่พมจ.จังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งโดยหลักการปฏิบัติแท้จริงแล้ว พมจ.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสถานะบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยแท้จริงคือ สำนักทะเบียนอำเภอต่างหาก และนี่คือการปัดความรับผิดรับชอบที่เด็กต้องไขว้คว้าหาคำตอบเอง
ตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อำเภอแม่สายในวันนั้น น้องนิกได้ไปติดไปที่ พมจ.จังหวัดเชียงราย ทางเจ้าหน้าที่พมจ.จังหวัดเชียงรายแนะนำให้น้องไปสืบค้นจากกูเกิล เพื่อค้นหาองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือด้านสถานะบุคคล  และได้สืบค้นเจอ โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project : SCPP) และติดต่อจนได้รับความช่วยเหลือขั้นต้นในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
การลงพื้นที่พบเจอน้องนิกและน้องสายพร สิ่งแรกที่เราช่วยได้คือการสอบปากคำจากปากของน้องเพื่อหาจุดเกาะเกี่ยว รวบรวมหลักฐานของน้องให้ได้มากที่สุด รวมไปถึง แนะนำให้น้องนิกเขียนจดหมายเพื่อร้องขอความช่วยเหลือในการดำเนินการด้านสถานะบุคคลจากคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บัดนี้จดหมายที่น้องนิคเขียนได้ส่งผ่าน อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๘  ตุลาคม  ๒๕๕๖ มีเรื่องราวหลากหลายมากมายที่เกี่ยวข้องกับน้องนิก  น้องสายพร ชวนให้เราสับสนพอสมควร  ตอนสายของวันนี้มีโทรศัพท์เข้ามาอ้างเองว่าตัวเป็นญาติกับน้องนิกและน้องสายพร ห้ามมิให้เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเด็กทั้งสองคน โดยคนที่อ้างต้วว่าเป็นญาติจะดำเนินการเรื่องสถานะบุคคลของเด็ก ๆ เอง  เมื่อเราซักไซ้ไล่เลียงถึงที่มาที่ไปของคนที่มาอ้างตัวเองเป็นญาติ  เราต่างเริ่มเห็นเค้าลางอะไรบางอย่างที่ไม่ค่อยชอบมาพากล และพยายามติดต่อกลับหาน้องนิก  แต่ตลอดทั้งวันเราไม่สามารถติดต่อน้องได้เลย คิดได้อย่างเดียวตอนนี้คือ  “เกิดอะไรขึ้นกับเด็ก”  เพราะสถานการณ์วันนี้และช่องทางการสื่อสารถึงตัวน้องมันดูเกี่ยวพันกันไปหมด  ช่องทางการติดต่อที่จะทำได้ตอนนี้คือ เฟรชบุค  และ  อีเมล์ที่น้องเคยพูดคุยกับเรา
เราเลือกช่องทางสื่อสารผ่านข้อความทางเฟรชบุค  ทิ้งข้อความไว้เผื่อน้องเปิดเข้ามาอ่าน  อย่างน้อย ๆ เขาจะได้รับรู้ความห่วงใยที่เราสิ่อถึงเขา  วินาทีนั้นคิดอย่างเดียวคือจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะติดต่อน้องนิกให้ได้  เพราะห่วงสวัสดิภาพน้องทั้งสองคน
ช่วงหัวค่ำ เราเปิดเฟรชบุคตามความเคยชินที่ทำทุกวันเพื่อสื่อสาร  อ่านข่าว ฯ สัญญาณเตือนข้อความเข้า
“น้องนิกติดต่อกลับมาแล้ว” ความรู้สึกนะช่วงเวลานั้นยิ่งกว่ายกภูเขาออกจากอก  มันรู้สึกโล่งมาก คิดอย่างเดียวเลย ณ วินาทีนั้น “น้องตอบเราได้แสดงว่าน้องยังปลอดภัยดี” แม้จะยังไม่อ่านเนื้อหาข้อความก็ตาม
“พี่แอนครับ ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังครับ  ผมรู้แล้วนะคับตอนนี้ว่าแม่ผมอยู่ไหน   แม่ผมแต่งงานใหม่แล้วคนไทยลื้อสัญชาติพม่าครับ  ตอนนี้แม่ผมก็จะมารับผมและน้องไปตรวจDNAเพื่อพิสูจน์สัญชาติพม่า
ส่วน เรื่องของป้ากับลุงผม  ท่านไม่ยอมไปทำบัตรเลยหล่ะครับ ผมอธิบายแล้วอธิบายอีกว่า พวกพี่ทีมงานมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงราย เขามาดี  ลุงกับป้าก็ไม่ยอมเชื่อผมเลยครับ
ผมเลยอยากขอพี่ๆอย่าพึ่งโทรไปหานะครับเพราะตอนนี้กลัวป้าจะคิดมากจนเป็นเรื่อง ใหญ่ไปแล้วหล่ะครับ
ผมขอโทษแทนป้ากับลุงด้วยนะครับถ้าป้าผมพูดอะไรที่ล่วงเกินพี่ๆทีมงานกระจกเงา
ส่วนเรื่องของผมกับน้องผมคาดว่าจะไปอยู่ฝั่งพม่าเลยครับถ้าพิสูจน์สัญชาติพม่าแล้วได้สัญชาติพม่า
ผมขอขอบพระคุณพี่ๆทีมงานที่ให้ความช่วยและผมอยากบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงผมและน้องแล้วนะครับเพราะผมเจอแม่แล้วครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
นิกและน้องสาว”
จากข้อความข้างต้น  มันเกิดอะไรขึ้นกับน้องสองคนนี้กันแน่  และเกิดคำถามมากมาย ณ เวลานั้น
แม่ที่น้องเล่าว่าขาดการติดต่อและหายไปจากชีวิตน้องนิกและน้องสายพรนานหลายปี  วันนี้กลับมาได้อย่างไร ?
ทำไมแม่มาได้ถูกเวลาเช่นนี้ยังกับมีการนัดหมาย ?
พ่อเลี้ยงคือใคร ?
แล้วทำไมน้องนิกและน้องสายพรต้องรีบร้อนเดินทางขนาดนั้น ?
ฯลฯ
และอีกหลายคำถามคาใจ  แต่สิ่งที่เอะใจคือ แล้วลุงหละ  ลุงมาได้ตรงช่วงเวลาอีกเช่นกัน  แสดงว่า ลุงนี่หละที่รุ้เห็นทุกอย่างเกี่ยวกับแม่ของน้องนิกและน้องสายพร  แล้วเหตุใดจึงไม่ยอมบอกให้เด็กให้ได้รับรู้ว่าแม่ของพวกเขาอยู่ที่ไหน  ลุงมีเหตุผลอะไรถึงทำแบบนั้น
ขณะสนทนายามใดที่กล่าวอ้างถึงแม่  น้ำเสียงน้องนิคจะสั่นเครือปนสะอื้นแทบทุกครั้ง  น้ำตาลูกผู้ชายไหลออกมาแบบห้ามไม่ได้  น้ำตาที่ไหลจากการพูดคุยอาจจะเป็นน้ำตาที่ไหลออกมาจากความเสียใจ เศร้าใจ น้อยใจ  หรือคับแค้นใจก็เป็นได้  เพราะจากการพูดคุยกับน้องนิก  พอจับใจความได้ว่า  น้องรู้สึกโกรธที่ลุงรู้เรื่องราวของแม่ตลอดแต่ไม่เคยบอกพวกเขาเลย  แต่กลับปล่อยให้เขาและน้องเป็นเด็กกำพร้ามานานหลายปี  โกรธที่เมื่อใครเอ่ยถามถึงแม่ ทุกครั้งต้องบอกใครต่อใครว่าตัวเองไม่มีแม่  กำพร้าแม่ จุดนี้แหละที่ทำให้น้องรู้สึกเจ็บปวดมากมาย
อีกหนึ่งความกังวลที่น้องบอกเรา  คือเรื่องการศึกษาที่น้องเป็นห่วงมาก  สิ่งที่น้องคาดหวังตอนนี้คือการขอสัญชาติพม่าและขอ VISA STUDENT กลับเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทย  แต่ น้องยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร  ต้องเดินทางไหน  ต้องไปที่ใดเขาถึงจะได้สัญชาติพม่า  สิ่งที่น้องนิกทำได้ตอนนี้คือ หาข้อพิสูจน์ให้ได้จากผู้เป็นแม่ว่าเขาเป็นใคร  เกิดในผืนดินรัฐไหน  เพื่อหาจุดเกาะเกี่ยวให้กับตนเองและน้องในการพิสูจน์สัญชาติพม่า
วงสนทนาปรึกษาได้เปิดขึ้นอย่างเร่งด่วนแม้เวลาจะล่วงเลยไปเกือบสามทุ่มแล้วก็ตาม  ทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมใจกันระดมความคิด หาทางออก หาต้นตอของปัญหา ปรึกษากันหลายๆ ฝ่าย เพราะด้วยเวลาที่เป็นตัวกดดันสำคัญ  น้องนิกบอกเล่าให้เราทราบว่าน้องสายพร  แม่พากลับข้ามไปฝั่งพม่าเรียบร้อยแล้ว  ส่วนตัวน้องนิกเองจะข้ามตามไปฝั่งพม่าในวันพรุ่งนี้  เวลาประมาณเที่ยงพร้อมกับพ่อเลี้ยงคนไทยลื้อ  ที่ถือสัญชาติพม่า  เหตุผลเพราะว่านิกต้องเก็บของก่อนการเดินทางที่ยังไม่มีกำหนดกลับ ถึงจะกลับเข้ามาประเทศไทยก็จะไม่กลับไปที่บ้านป้าหลังนี้อีกเลย
เราช่วยกันถามซักน้องนิกทางโทรศัพท์มือถือถึงสาเหตุแห่งการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิตในครั้งนี้     น้องตอบแต่เพียงว่าเขามีเจตนาที่จะข้ามจากประเทศไทย ไป พม่า เพราะต้องการพิสูจน์สัญชาติพม่าตามแม่ผู้ให้กำเนิด อย่างน้อย ๆ ถ้าเขาได้สัญชาติพม่าเขาก็คือพลเมืองพม่าคนหนึ่งที่มีรัฐพม่ารับรองความเป็นคนของประเทศ
เป้าความช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็กเป็นสำคัญ  และเราทั้งหมดก็เคารพการตัดสินใจนั้น
วันนี้ ๙  ตุลาคม  ๒๕๕๖  น้องนิก กำลังจะข้ามแดนไปยังฝั่งพม่า  เสียงปลายสายที่เราได้คุยกับน้องนิกในเช้าวันนี้  น้ำเสียงน้องรู้สึกมั่นใจกว่าเมื่อคืนที่ได้พูดคุยกัน  เราได้แต่อวยพรให้น้องเดินทางถึงฝั่งฝัน  กำชับให้น้องนิกดูแลน้องสายพร และสิ่งที่ไม่ลืมจะบอกน้องนิก คือความห่วงใยและความช่วยเหลือที่พี่ ๆ ทุกคนมีให้ยามที่เขาต้องการ
ขอให้น้องโชคดี  น้องนิก  น้องสายพร เด็กน้อยผู้จากจรจากผืนไทย
Tue, 10/08/2013
Copyright © 2018. All rights reserved.