คนไทยพลัดถิ่นโวยเจ้าหน้าที่ทำเอกสารหาย ทำขบวนการขอคืนสัญชาติล่าช้า “ครูแดง”ระบุไม่มีปัญหาเชื่ออำเภอมีต้นขั้ว

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 นางรสิตา ซุยยัง ชาวบ้านจากเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม ตัวแทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจากเขตอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ทะเบียนจังหวัดระนองเพื่อติดตามความคืบหน้าการยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติไทยที่จังหวัดระนอง หลังจากเครือข่ายไทยพลัดถิ่นบางส่วนที่ได้ยื่นคำขอไปตั้งแต่ปี2555 โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่ทราบว่าเอกสารอยู่ส่วนใด ทั้งนี้การติดตามความคืบหน้ากรณีเอกสารดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากที่วันที่ 6 มกราคม 2558 ปลัดทะเบียนอำเภอกระบุรี ยืนยันว่าได้ส่งเอกสารไปที่ฝ่ายทะเบียนจังหวัดแล้ว โดยรายชื่อที่ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอนั้นมีทั้งหมด 16 ราย แต่ทางจังหวัดตรวจสอบพบรายชื่อเพียง 7 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ทราบว่าเอกสารติดค้างอยู่ที่ใด
“นับตั้งแต่เราเดินเท้าจากใต้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อต่อสู้เรื่อง พ.ร.บ.สัญชาติ ปี 2555 เราก็ได้ทยอยส่งเอกสารและผลการสอบประวัติครอบครัวคนไทยพลัดถิ่นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา เราได้ไปที่อำเภอเพื่อยื่นขอพิสูจน์สัญชาติ ทางอำเภอยืนยันว่าส่งทะเบียนมาที่จังหวัด วันนี้เราก็มาตามที่ จังหวัดเพราะโดยปกติเอกสารจะส่งถึงจังหวัดใช้เวลาแค่ 7วันเท่านั้น แต่ทางจังหวัดบอกเราว่า ก็มีไม่ครบ มีแค่ 7รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือมีแค่ใบนำส่งจำนวนไทยพลัดถิ่น โดยระบุว่าไม่มีรายชื่อแนบ ซึ่งทั้งจังหวัดระนองนั้นขาดรายชื่อเพียงอำเภอเดียว คือกระบุรี โดยพยายามรื้อดูก็หาไม่เจอ ทำให้พวกเราเริ่มกังวลและตั้งข้อสงสัยกับเจ้าหน้าที่ว่าเพราะเหตุใด โดยเบื้องต้นประชุมหารือกันว่าจะกลับไปติดตามที่อำเภอดูอีกที เพื่อความแน่ใจ เผื่อมีอะไรผิดพลาด” นางรสิตา กล่าว
นางรสิตา กล่าวด้วยว่า ตามกระบวนการแล้ว การยื่นขอพิสูจน์สัญชาตินั้น หากผ่านการทำผังครอบครัวและมีพยานต่างๆแล้ว จะต้องยื่นเรื่องให้อำเภอตรวจสอบโดยใช้เวลาประมาณ 45 วัน จากนั้นส่งต่อให้จังหวัด ใช้เวลาส่งภายใน 7วัน เพื่อให้กรรมการพิสูจน์และรับรองความเป็นไทยพลัดถิ่น ได้พิจารณา พอพิสูจน์แล้วหากพบหลักฐานไม่ครบต้องแจ้งทางอำเภอให้แจ้งตัวบุคคลอีกครั้งเพื่อชี้แจงและเรียกเอกสารเพิ่มเติม โดยหากผ่านทางจังหวัดก็ส่งต่อให้กรมการปกครอง จากนั้นส่งต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศเพื่อพิสูจน์และยืนยันว่าคนไทยพลัดถิ่นไม่ได้ถือสัญชาติอื่นซ้ำซ้อนแล้วจึงส่งกลับมายังกรมการปกครองให้ดำเนินการด้านเอกสารเพื่อให้สัญชาติคนไทยพลัดถิ่นต่อไป โดยที่ผ่านมาไทยพลัดถิ่นดำเนินการมาโดยตลอดและไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่มาครั้งนี้เพราะเหตุใดเอกสารจึงหาไม่เจอ ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ ทั้งนี้คาดว่าอีก 2-3วัน หากไม่มีความคืบหน้าจะติดตามอีกที อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวไม่อยากกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ แต่หากผลพิสูจน์ออกมาว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องต่อการรับผิดชอบเอกสาร ก็เป็นความผิดปกติที่ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีอะไรต่อรอง
นางรสิตากล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยมีการใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2555 มีการสำรวจโดยกระทรวงมหาดไทย พบจำนวนไทยพลัดถิ่นทั้งหมด 18,000 ราย ได้พิสูจน์สัญชาติไปแล้วรวมทั้งหมดประมาณ 2,000-3,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายไทยพลัดถิ่น ประมาณ 300 คน ที่เหลืออีกประมาณ 2,700 ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายฯแต่ก็ได้รับการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วตามกฎหมายกำหนด โดยกลุ่มที่ได้สัญชาตินั้นต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นไทยมานานถึง 12 ปี แต่ปัญหาและกระบวนการสำรวจยังคงติดอยู่ที่เดิม หลักๆได้แก่ ปัญหาการจำหน่ายชื่อซึ่งมีอยู่ในหลักร้อย ต่อมาเป็นปัญหาเรื่องเอกสารหาย ไม่พบหลักฐานและญาติปฏิเสธการรับรองหรือปฏิเสธการเป็นพยาน และล่าสุดคือปัญหาที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่มีการส่งเอกสารเข้ามายังหน่วยงานราชการ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนองอยู่ในขณะนี้
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้ตรวจสอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยได้รับคำยืนยันว่า หากมีการส่งเรื่องจากอำเภอไปจังหวัดแล้ว แม้เอกสารจะหายที่จังหวัดก็ยังมีต้นขั้วอยู่ที่อำเภอ จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องรับปากว่าจะติดตามให้
นางเตือนใจกล่าวว่า เงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การรับรองความเป็นคนไทยล่าช้าคือต้องมีการทำผังเครือญาติสาวไปให้ถึงบรรพบุรุษ แต่คำร้องของของชาวบ้านจำนวนไม่น้อยสาวไปได้แค่รุ่นพ่อแม่ อย่างไรก็ตามกรรมการฯจึงได้พยายามหาทางออกโดยให้จังหวัดพิจารณาหลักฐานอื่นๆประกอบ ซึ่งกรรมการฯจะพิจารณาจากเหตุผลเหล่า อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ เพราะหากผิดพลาดไปก็จะถูกสอบสวน ซึ่งขณะนี้กำลังเสนอให้รัฐมนตรีจัดตั้งทีมเพิ่มเพราะมีคำร้องของอนุมัติมาหลายช่องทางของกฎหมาย
Copyright © 2018. All rights reserved.